วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์


การประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์
            การประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชนิด ที่มีดารากับเครื่องแบบเต็มยศของบุรุษ จะประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายระดับใต้ชายปกกระเป๋า ส่วนเครื่องแบบเต็มยศ หรือครึ่งยศของสตรี หรือชุดไทยจะประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายเช่นกันในระดับพองาม ยกเว้นครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายตระกูล และมีดาราหลายดวง มีวิธีประดับตามความเหมาะสม และสวยงามกับสายสะพายจากบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย หรือจากบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา ได้หลายแบบ ดังนี้
การประดับดารา ๒ ดวง


แบบที่ ๑
            ๑.  ดาราดวงแรกประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่สองที่มีลำดับเกียรติรองลงมาประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกเยื้องไปทางซ้าย

แบบที่ ๒
            ๑.  ดาราดวงแรกประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๑.  ดาราดวงที่สองที่มีลำดับเกียรติรองลงมาประดับในแนวเดียวกับดาราดวงแรกเยื้องไปทางซ้าย



 แบบที่ ๓
            ๑.  ดาราดวงแรกประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๑.  ดาราดวงที่สองที่มีลำดับเกียรติรองลงมาประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกเยื้องไปทางขวา


แบบที่ ๔
            ๑.  ดาราดวงแรกประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่สองที่มีลำดับเกียรติรองลงมาประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกในแนวดิ่ง (ดาราดวงที่สองอยู่ตรงกับดาราดวงแรก)





การประดับดารา 3 ดวง


แบบที่ ๑
            ๑.  ดาราดวงแรกที่มีลำดับเกียรติสูงสุดประดับที่อกเสื้อเบี่ยงซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสองประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกในแนวดิ่ง (ดาราดวงที่สองอยู่ตรงกับดาราดวงแรก)
            ๓.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสามประดับในแนวเดียวกับดาราดวงที่สองเยื้องไปทางซ้าย

แบบที่ ๒
            ๑.  ดาราดวงแรกที่มีลำดับเกียรติสูงสุดประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสองประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกเยื้องไปทางซ้าย
            ๓.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสามประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงที่สองเยื้องไปใกล้แนวรังดุม

แบบที่ ๓
            ๑.  ดาราแรกที่มีลำดับเกียรติสูงสุดประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสองประดับในแนวเดียวกับดาราทั้งสองดวงข้างต้น โดยให้มีระยะห่างจากดาราดวงแรกเท่ากับดาราดวงที่สอง

แบบที่ ๔
            ๑.  ดาราดวงแรกที่มีลำดับเกียรติสูงสุดประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายพองาม
            ๒.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสองประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงแรกเยื้องไปทางซ้าย
            ๓.  ดาราดวงที่มีลำดับเกียรติสูงเป็นลำดับสามประดับในระดับต่ำกว่าดาราดวงที่สองเยื้องไปทางซ้าย
            นอกจากนี้ ยังสามารถประดับได้ตามรูปแบบอื่นที่เหมาะสมและสวยงามอีก โดยยึดหลักให้ดาราที่มีลำดับเกียรติสูงสุดอยู่บนสุด กรณีประดับดาราดวงที่สองในระดับเดียวกัน ดาราดวงแรกที่มีลำดับเกียรติสูงสุดจะต้องอยู่ใกล้แนวรังดุม ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีประดับดารามากว่า ๓ ดวงขึ้นไปด้วย
การแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการ
            ในหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการในพระราชพิธี หรือรัฐพิธีต่าง ๆ จะมีข้อความ ระบุการแต่งกายในแต่ละโอกาส เช่น ให้แต่งกายเต็มยศ  ครึ่งยศ หรือปกติขาว แล้วแต่ละกรณีผู้แต่งกายต้องตรวจสอบหมายกำหนด หรือข้อความที่ระบุการแต่งกายในกำหนดนัดหมายของทางราชการให้ชัดเจน แล้วแต่งกายแล้วประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ การที่จะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร่วมกับการแต่งกายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ได้อย่างถูกต้องนั้น มีหลักสำคัญที่ควรทราบ ดังนี้

            ๑.  กรณีให้แต่งกายเต็มยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ) 
                ๑.๑  ไม่ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานเพียงสายเดียว โดยให้ประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานแต่ละตระกูลตามลำดับเกียรติ
                ๑.๒  ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ระบุ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับพระราชทานสายสะพาย ที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็ตาม เช่น ระบุให้สวมสายสะพายมงกุฎไทย หากได้รับพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎไทย และประถมาภรณ์ช้างเผือกแล้ว ก็ให้สวมสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทย แต่ให้ประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของแต่ละตระกูล ที่ได้รับพระราชทานตามลำดับเกียรติ แต่หากมิได้รับพระราชทานสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่ระบุชื่อให้สวมสายสะพาย หรือประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทาน โดยประดับดาราตามลำดับเกียรติ อาทิ หากหมายกำหนดการให้แต่งกายเต็มยศ สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า หรือให้แต่งกายเต็มยศสวมสายสะพายช้างเผือก หรือผู้ได้รับพระราชทานปฐมดิเรกคุณาภรณ์เป็นชั้นสูงสุด ให้สวมสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทยหรือ สายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์แล้วแต่กรณี
            ๒.  กรณีให้แต่งกายครึ่งยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ)   จะแต่งกายเช่นเดียวกับเต็มยศโดยประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เมื่อประดับดาราชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานแต่ละตระกูลแล้ว  ไม่ต้องสวมสายสะพาย เฉพาะผู้ได้รับ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน) ให้นำดวงตราห้อยกับแพรแถบผูกแมลงปอ ประดับที่หน้าบ่าเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ต้องประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว
            ๓.  กรณีให้แต่งกายปกติขาว (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงขาว)  ให้ประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามชั้นตราที่ได้รับพระราชทาน แต่หากระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญให้ประดับเฉพาะเหรียญ ราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ประดับดาราหรือสายสะพาย
            อนึ่ง ในกรณีเป็นงานศพซึ่งมีกำหนดการระบุให้แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาวไว้ทุกข์ ให้สวมปลอกแขนสีดำที่แขนเสื้อข้างซ้าย
            ๔.  ในโอกาสพิเศษบางพิธี  อาจมีหมายกำหนดการระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญ เช่น งานเลี้ยงพระ และสมโภชราชกกุธภัณฑ์ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็ให้แต่งกายปกติขาว แต่ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์แทนแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และไม่ต้องสวมสายสะพายหรือสวมแพรแถบ สวมคอแต่อย่างใด
            อนึ่ง เมื่อแต่งกายชุดสากลจะไม่มีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นอันขาด เว้นแต่จะประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์
การประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์

            โดยปกติการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้รับพระราชทาน จะประดับกับเครื่องแบบเต็มยศ และเครื่องแบบครึ่งยศ ตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการ ส่วนการประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งแสดงถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน จะใช้ประดับแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ในโอกาสแต่งกายด้วยเครื่องแบบปฏิบัติราชการ เครื่องแบบพิธีการ (ยกเว้นเครื่องแบบเต็มยศและครึ่งยศ) และเครื่องแบบปฏิบัติงาน เว้นแต่กรณีที่หมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการ ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยให้ประดับบริเวณหน้าอกเหนือกระเป๋าเสื้อเบื้องซ้าย
การประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์
            ตามที่ได้กล่าวถึงการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ตลอดจนการประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งแสดงถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ในโอกาสแต่งกายด้วยเครื่องแบบต่าง ๆ มาแล้วตามบทข้างต้น นอกจากนี้ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยังได้กำหนดให้มีดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งแสดงถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีหลักสำคัญที่ควรทราบในการประดับ ดังนี้
            ๑.  ให้ประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งแสดงถึงชั้นตราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานชั้นสูงสุด เพียงชั้นตราเดียว
            ๒.  หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หลายตระกูล ให้เลือกประดับชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เพียงตระกูลเดียวในแต่ละโอกาส

ไม่มีความคิดเห็น: